ชื่อผู้ใช้ : รหัสผ่าน : จำรหัสผ่าน สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน?

วิเคราะห์ World Economic Forum มองจุดอ่อนการศึกษาไทย

หมวดกระทู้ :การศึกษา

      "แม้จะอยู่กลางๆ แต่ประมาทไม่ได้ เพราะในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา อันดับรวมของกัมพูชาสูงขึ้นมา 23 อันดับ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สูงขึ้นมา 19 อันดับ หากไทยยังย่ำอยู่ที่เดิม อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจเห็นแต่หลังเพื่อนอาเซียนทุกคนก็เป็นได้"

        นับว่าเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย เมื่อเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum : WEF) หรือเวทีเศรษฐกิจโลก ได้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2555-2556 ซึ่งพบว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 รั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน

        และล่าสุด WEF ยังได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รายงานการศึกษาปีนี้ (2556-2557) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศ แม้ว่าอันดับของไทยจะดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 144 ประเทศ

        ที่มาที่ไปของการจัดอันดับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้ค้นคว้าวิธีประเมินของ WEF มาเล่าแบบง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงมุมมองของนักธุรกิจโลกที่มีต่อศักยภาพการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการศึกษา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศนั้นๆ

        WEF เริ่มจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ครั้งแรกในปี 2547 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จึงโยงการศึกษาในฐานะปัจจัยหนุนหรือถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเกี่ยวกับภาคเอกชน เศรษฐกิจไทยเราอยู่ในกลุ่มระดับกลางที่แข่งขันด้วยประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ส่วนประเทศกลุ่มที่อยู่ระดับเหนือกลุ่มเรามักจะแข่งขันด้วยการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ประเทศกลุ่มต่ำกว่ากลุ่มเรามักจะขุดทรัพยากรออกมาขายหรือใช้

       การศึกษาไทยจึงสำคัญเนื่องจากแรงงานที่มีทักษะความสามารถเท่านั้นจึงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และหากคนไทยมีทักษะสูงขึ้นไปก็จะเอื้อให้เราก้าวขึ้นไปสู่เศรษฐกิจนวัตกรรมได้

       วิธีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์นั้น WEF อาศัยข้อมูลสองประเภทคือ บรรดาสถิติต่างๆ กับความเห็นของผู้นำด้านเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งการประเมินให้น้ำหนักความสำคัญกับข้อมูลประเภทหลังนี้ถึง 2 ต่อ 1 เมื่อเทียบกับข้อมูลประเภทสถิติ กลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามมีจำนวน 130 คน กว่าครึ่งมาจากสถานประกอบการที่มีคนงานน้อยกว่า 500 คน ผู้ตอบมาจากภาคบริการร้อยละ 55 ที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ดังนั้นการตีความผลประเมินของ WEF จึงสะท้อนมุมมองและความคาดหวังของผู้ประกอบการตามลักษณะกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว

      สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาไทย WEF ประเมินด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ตัว ใน 2 หมวด ได้แก่ หมวดที่เรียกว่า “การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม” ใช้ตัวชี้วัดเกี่ยวกับมัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะขั้นสูง ประเทศไทยได้อันดับที่ 66 ของโลกในหมวดนี้

      ในขณะที่ผลประเมินประถมศึกษาแยกไปรวมอยู่กับหมวดที่เรียกว่า “สาธารณสุขและประถมศึกษา” ซึ่งประเทศไทยได้อันดับ 81 ของโลก โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งมี 10 ประเทศ ประเทศไทยได้อันดับที่ 5 ในหมวด “การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม” และอันดับที่ 7 ในหมวด “สาธารณสุขและประถมศึกษา”

        แม้จะอยู่กลางๆ แต่ประมาทไม่ได้ เพราะในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา อันดับรวมของกัมพูชาสูงขึ้นมา 23 อันดับ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สูงขึ้นมา 19 อันดับ สิงคโปร์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 8 ในปี 2549 เป็นอันดับที่ 2 ในปี 2554 ในขณะที่มาเลเซียกับไทยอันดับถดถอยลง 4 และ5 อันดับ ตามลำดับ ดังนั้นหากฟิลิปปินส์ ลาว พม่า อินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้า โดยที่ไทยยังคงย่ำอยู่ที่เดิม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจเห็นแต่หลังเพื่อนอาเซียนทุกคนก็เป็นได้

      ทั้งนี้ WEF บ่งบอกว่าประเทศไทยควรแก้ไขระบบการศึกษาที่จุดใด เรามีจุดอ่อนแทบทุกตัวชี้วัด (ดูตาราง) แต่ตัวที่สะดุดตาเพราะรั้งท้ายในอาเซียนน่าจะได้แก่ 

      1.อัตราเข้าเรียนประถมศึกษา
      2. คุณภาพระบบการศึกษา 
      3. คุณภาพประถมศึกษา

     หมายเลข (3) “คุณภาพประถมศึกษา” นั้นมีความหมายตรงไปตรงมา หมายเลข (2) “คุณภาพระบบการศึกษา” ใช้คำถามอยู่ในหมวดการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ตัวชี้วัดข้อนี้จึงบ่งชี้ภาพกว้างของคุณภาพของมหาวิทยาลัย อาชีวะขั้นสูงรวมถึงมัธยมศึกษา โดยรายงานหน้า 35 WEF ใช้คำบรรยายว่าคุณภาพการศึกษาขั้นสูงของไทยอยู่ระดับ“ต่ำผิดปกติ”

      ส่วนหมายเลข (1) “อัตราเข้าเรียนประถมศึกษา” นั้นกลายเป็นประเด็นที่คนมองข้ามกัน โดยไทยยังมีเด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Dropouts) จำนวนประมาณ 10% ของประชากร หากระบบการศึกษาเพิ่มความเท่าเทียมอัตราเข้าเรียนประถมศึกษาควรจะใกล้100%

 

     ในส่วนของอุดมศึกษาที่ดูอันดับจากสามสำนัก THE (Time Higher Education World University Rankings); QS World University Rankings; และ Shanghai Rankings ปัจจุบันไทยมีเพียง 3 สถาบันเท่านั้นที่ติดอันดับโลกคือ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เคดิต: http://www.bangkokbiznews.com/

โพสโดย : แอดมิน
วันที่โพส : 03 พฤศจิกายน 2556
Email : BenNisitZone@nisit-zone.com

แสดงความคิดเห็นของคุณ

1
ชื่อผู้ตอบ: *
อีเมล์ : *
กรุณาใส่รหัสตามรูปที่เห็น *

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น