อ.ศึกษาศาสตร์ ม.รังสิตเผย บัณฑิตได้งานไม่ตรงสายงานเพราะเรียนตามกระแส
หมวดกระทู้ :การงานอาชีพ
ดร.สุพินดา เลิศฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต บัณฑิตจบใหม่ได้งานไม่ตรงตามสาย เหตุเพราะเลือกเรียนคณะที่เป็นกระแสนิยม เผยนักศึกษา ส่วนใหญ่เลือกเรียนปริญญาตรีมากกว่าเรียน ปวช. ปวส. แต่ตลาดแรงงานกลับรองรับเด็กเรียนสายอาชีพ
ดร.สุพินดา เลิศฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่บัณฑิตได้ งานไม่ตรงตามสายงานจากคณะที่เรียนว่า เป็นเพราะเด็กไทยเลือกเรียนในคณะที่เป็นกระแสนิยม เช่นเรียนในคณะที่ เคยเป็นที่ต้องการเมื่อ 4ปีที่แล้ว แต่ในขณะที่กำลังศึกษา ความต้องการในแรงงานกลับลดลง เมื่อเขาเรียนจบจึงไม่มี ตำแหน่งงานเหลือให้เขา ปัจจุบันยังมีอีกหลายวิชาชีพที่ต้องการคนทำงานจำนวนมาก บางมหาวิทยาลัยประกาศ ว่าบัณฑิตจบใหม่มีงานทำ 99 % ซึ่งแสดงว่าเด็กที่จบออกมานั้นต้องมีคุณภาพ และอยู่ในสายอาชีพที่ตลาดต้องการ เช่นนักศึกษาแพทย์ พยาบาล ไม่ตกงานแน่นอน แต่ปัจจุบันบัณฑิตที่ตกงานมาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือคณะต่างๆ ที่เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ จำนวนยอดคนตกงานแซงหน้าบัณฑิตสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เคยตกงานเป็นอันดับ หนึ่ง สาเหตุหนึ่งอาจมาจากมีคนสนใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์มากขึ้น อีกสาเหตุคือเมื่อไม่สามารถเข้า เรียนในมหาวิทยาลัยที่ตนเองชื่นชอบได้ คณะไหนที่เรียนง่าย จบง่าย เด็กก็จะเลือกเรียน แต่ในทางกลับกัน บัณฑิตสาย บัญชีกลับได้งานทำเกือบหมดทุกคน แต่เด็กที่เรียนบริหารธุรกิจ เรียนคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กลายเป็น 5 อับดับคณะต้นๆที่มีบัณฑิตตกงานมากที่สุด
ดร.สุพินดา กล่าวอีกว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา อัตราคนว่างงานของประเทศถือว่าไม่ได้มาก เพียงแต่เกิดยอดสะสมจากปี ก่อนๆ แต่ละปีเมื่อมีบัณฑิตจบใหม่เพิ่มเข้ามา ตัวเลขคนตกงานจึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งงานที่ตลาดต้องการ ก็มีอยู่แค่ 2 ระดับ คือระดับสูงและระดับล่าง ซึ่งระดับล่าง ส่วนใหญ่จะเป็นสายงานช่างใช้แรงงานมากกว่านั่งโต๊ะ อย่างไรก็ตามนักศึกษา ส่วนใหญ่ เลือกเรียนให้จบปริญญาตรี มากกว่าเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้น สูง(ปวส.)เพราะจบออกมาแล้วอยากมีงานทำ แต่ในความเป็นจริงเด็กที่มีงานรองรับกลับกลายเป็นเด็กที่เรียนช่าง เรียน สายอาชีพ อาจเป็นเพราะเป็นสายที่จบออกมาแล้วมีวิชาชีพมีความสามารถติดตัว จึงไม่ต้องมารองาน แต่ก็ไม่มีคน อยากเรียน เนื่องจากไม่ได้ใบปริญญา ได้แค่อนุปริญญา สมัยนี้ค่านิยมของคนไทยมันเปลี่ยนไป อาจเป็นเพราะพ่อแม่ อยากให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อที่จะจบออกมาแล้วได้เป็นเจ้าคนนายคน
"เรื่องการทำงานที่ไม่ตรงสายที่เรียน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มันไม่ตรงอาจเป็นเพราะเรามีความสามารถ ก่อนเขาเลือกเรา ทำงาน เขาต้องดูแล้วว่าเราสามารถทำงานให้เขาได้ คำว่าไม่ตรงนี่อาจจะไม่ตรงใจ เพราะเราเข้าไปแล้วเราไม่ชอบ บาง อย่างมันก็มีเหตุผลของมัน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เลือกงาน มีความขยันอดทน ถึงมันไม่ตรงมันก็ต้องมีเหตุผลอื่นมา ประกอบกัน ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่จังหวะเวลา ความพอดีและโอกาส” ดร.สุพินดา กล่าว

แสดงความคิดเห็นของคุณ
ความคิดเห็นทั้งหมด

งานที่ใช่บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับความพอดีและโอกาศ^^